กุฏิทรงไทยวัดวังตะวันตก ความวิจิตรงดงามแห่งนครศรีธรรมราช
กุฏิทรงไทยวัดวังตะวันตก ตั้งอยู่ริมถนนราชดำเนิน บริเวณที่เชื่อว่าตรงข้ามกับวังตะวันออกอันเป็นนิวาสสถานของเจ้าจอมปราง เดิมเป็นอุทยาน ต่อมาเจ้าพระนคร (น้อย) ยกวังตะวันออก และอุทยานตรงข้ามให้เป็นวัดเช่นเดียวกัน จึงเป็นวัดวังตะวันตก พ.ศ. 2431 พระครูกาชาด (ย่อง) พร้อมด้วยสานุศิษย์ได้สร้างกุฎิขึ้นหมู่หนึ่ง เป็นเรือนเครื่องสับ 3 หลัง มีหลังคาจั่ว แต่ละหลังคาคลุมเชื่อมต่อกัน ตัวเรือนฝาปะกน ตามประตู หน้าต่างและช่องลม ประดับด้วยลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ของเมืองนคร ปี พ.ศ. 2535 สมาคมสถาปนิก สยามคัดเลือกกุฎิวัดวังตะวันตกให้เป็นอาคารอนุรักษ์ดีเด่น ประเภทปูชนียสถานและวัดวาอาราม
กุฏิหลังนี้เป็นกุฏิเก่าแก่สร้างขึ้นเมื่อพุทธศักราช 2431 คือเมื่อหนึ่งร้อยปีเศษที่ผ่านมา โดยพระครูกาชาด นามเดิมว่า ย่อง เจ้าอาวาสวัดวังตะวันตกในเวลานั้น มุ่งหมายจะให้เป็นที่สำหรับอาศัยเล่าเรียนพระธรรม โดยใช้เวลาก่อสร้างถึง 13 ปี จุดเด่นที่น่าสนใจของกุฏิหลังนี้ คือหน้าต่างแต่ละบาน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าสร้างสรรค์ขึ้นด้วยความวิจิตรของผู้ออกแบบ และความบรรจงของช่างผู้ก่อสร้าง
ประวัติความเป็นมา กุฏิทรงไทยวัดวังตะวันตก
ตั้งวัดวังตะวันตก แต่เดิมเป็นป่าขี้แรด ใช้เป็นที่ค้างศพของคนในเมือง ซึ่งนำ ออกมาทางประตูผี ซึ่งอยู่ด้านตะวันตกของตัวเมือง แล้วนำล่องเรือมาตามคลองท้ายวังเขาคลองทา แล้วเอาศพไว้ในที่ที่เป็นป่าขี้แรด ต่อมากลายเป็นที่รกร้างว่างเปล่าเพราะประเพณีการค้างศพได้เลิกนิยมไป ที่บริเวณนี้จึงกลายเป็นบ้านตากแดด คือปล่อยทิ้งไว้ให้แดดเผา เพื่อล้างสถานที่ที่เคยค้างศพและไม่มีผู้คนกล้าเข้ามาอาศัยอยู่ ต่อมาเจ้าจอมปราง ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า แม่นางเมืองหรือแม่วัง เห็นเป็นที่ว่างและอยู่ใกล้กับวังของท่านเพียงคนละฟาก
จึงเกิดความคิดที่จะดัดแปลงที่ว่างนั้น ให้เป็นอุทยาน เพื่อเป็นที่พักผ่อนของเจ้าพระยานคร (น้อย) บุตรชาย ประกอบกับเจ้าพระยานคร (พัด) ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช จึงได้ดัดแปลงป่าขี้แรดให้เป็นอุทยาน ต่อมาถึงสมัยเจ้าพระยานคร (น้อย) ได้ตำแหน่งเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ต้องรับภาระจัดการพระศพเจ้าจอมมารดาปราง ได้เลือกเอาอุทยานแห่งนี้เป็นที่ฌาปนกิจศพ และได้ปรับปรุงวังตะวันออกให้เป็นวัดวังตะวันออกพร้อม ๆ กันนี้ได้แปรสภาพอุทยานแห่งนี้ให้เป็นวัดอีกวัดหนึ่ง เรียกว่า ” วัดวังตะวันตก “
เมื่อประมาณ พ.ศ.๒๓๘๐ เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) ได้สร้างพระพุทธรูปสูงใหญ่ขึ้นองค์หนึ่งไว้ทางทิศใต้ของบริเวณวัด โดยสร้างไว้บนเนินดินซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอุทยาน ถวายชื่อว่า “พระศรีธรรมโศกราช” เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติยศของผู้เป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช คนทั่วไปนิยมเรียกว่า “พระสูง” เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๕ ประชาชนได้ร่วมกันสร้างวิหารคลุมไว้ ภายในวัดวังตะวันตกมีกุฏิทรงไทยหลังหนึ่งมีลักษณะเป็นหมู่ เรือนไทยสร้างด้วยไม้ เป็นเรือนฝากระดานแบบเรือนสร้างสับ ๓ หลัง หลังคาหน้าจั่วหันไปทางทิศตะวันออกทั้งหมด ตัวเรือนเป็นกุฏิไม้ฝาประกน มีลวดลายแกะสลักไม้ ตกแต่งตามส่วนต่าง ๆ เป็นรูปบุคคลมีปีกประกอบลายพรรณพฤกษา ลายหัวบุคคลมีลำตัวเป็นก้านต้นไม้ กรอบหน้าต่างด้านล่างสลักเป็นลายเครือเถาและลายเรขาคณิต เรือนหลังกลางเป็นห้องโถงโล่ง และเรือนอีก ๒ หลัง เป็นปีกยกพื้นสูงทั้ง ๒ ข้าง มีฐานที่มีหลังคาคลุมต่อเชื่อมกัน หลังคามุงกระเบื้องไม่เคลือบ ด้านทิศตะวันตกเป็นเรือนครัว
ซึ่งได้ย้ายมาประชิดกุฏิภายหลัง ใต้กุฏิยกพื้นสูง เพื่อให้อากาศถ่ายเทได้ดีปัจจุบันมีชานเรือนทำด้วยปูนซิ เมนต์ เชื่อมหมู่กุฏิและเรือนครัวเข้าด้วยกัน มีจารึกสลักบนไม้เหนือบนประตูหลังกลางทางด้านตะวันออก กล่าวถึงการสร้างกุฏิหลังนี้ว่า
“…กุฏิสามหลังข้างครัวข้างโน้น ข้าพเจ้าอาจารย์ย่อง พร้อมด้วยญาติบรรณาแลสานุศิษย์ ได้เตรียมการจัดหาเครื่องเสาตั้งแต่ปีมเมียจัตวาศก มาได้ยกขึ้นเมื่อ ณ วัน ๒ฯ๔ ค่ำ ปีชวดสัมฤทธิศก พุทธศักราชล่วงแล้ว ๒๔๓๑ พรรษา ก็ทำต่อมาก็ทั่ง ณ วัน ๓ฯ๕ ค่ำปีมแมสัปตศก เป็นวันฉลอง ๑๓ ปีแล้วเสร็จ ก็ทำครั้งนี้เพื่อจะเปลื้องธุระสงฆ์ที่กังวนด้วยฟากฝา แลจะได้อยู่อาไสยเอาเรียนพระธรรม์บำรุงพุทธศาสนาให้จิรัง ท่านผู้อ่านผู้ฟังจงอนุโมทนารับส่วนบุญด้วยเทอญฯ…” นั่นมายถึงว่าอาคารหลังนี้เริ่มสร้างในปี พ.ศ. ๒๔๓๑ ใช้เวลาสร้าง ๑๓ ปี เพื่อให้พระสงฆ์ได้อาศัยเรียนพระธรรมบำรุงพุทธศาสนา ผู้สร้างคือ พระครูกาชาด(ย่อง) ร่วมกับบรรดาญาติโยม สานุศิษย์
ข้อมูลเพิ่มเติม
ที่ตั้ง : ตำบลคลัง อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช
วันเวลาทำการ : ทุกวันเวลา 08.00-16.30 น.
อ้างอิง Thailandtourismdirectory
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น