วันอาทิตย์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2566

ประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ

 

ประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช

ประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ (โครงการการพัฒนาลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ) ตั้งอยู่ที่ตำบลหูล่อง อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ชื่อว่า เป็นพระตำหนักแห่งเดียวที่ได้ สร้างขึ้นจากประชาชน ในอดีตอำเภอปากพนังมีปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อม มีน้ำท่วม น้ำจืดมีไม่เพียงพอ ดินเปรี้ยว ความเค็มลุกล้ำเข้ามา เป็นผลให้มีผลผลิตต่ำ ความยากจน และแรงงานต้องอพยพเข้ามาหางานทำในเมือง ทิ้งถิ่นฐานเรือกสวนไร่นาที่เคยอุดมสมบูรณ์ออกมา

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานแนวทางแก้ไขและพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังทั้งระบบ ถึง 13 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2521 โดยครั้งสำคัญที่สุด เมื่อปี 2536 ทรงมีพระราชดำริให้ก่อสร้างประตูระบายน้ำปากพนัง หรือประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ เพื่อบริหารจัดการน้ำทั้งหมด

“พระราชดำริดังกล่าว ประสบความสำเร็จมาก ถือเป็นกุญแจแรกในการพลิกฟื้นลุ่มน้ำปากพนัง และทำให้เกิดการพัฒนาต่อเนื่องมาโดยตลอด” อันคำว่า “อุทกวิภาชประสิทธิ” มีความหมายว่า ประตูระบายน้ำที่ประสบความสำเร็จในการแยกน้ำจืดน้ำเค็ม ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2542

ประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ

ประวัติ ประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ

ในอดีต ลุ่มน้ำปากพนังเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ในภาคใต้ จากหลักฐาน ที่พบเห็นคือ โรงสีไฟ โรงสีข้าวโบราณที่พบหลายแห่งริมแม่น้ำปากพนัง ด้วยพื้นที่ลุ่มน้ำแห่งนี้กว้างใหญ่ครอบคลุมถึง 10 อำเภอ ใน 3 จังหวัด ได้แก่จังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา ทำให้ระบบนิเวศมีความหลากหลาย ทั้งป่าต้นน้ำ ป่าพรุ ป่าชายเลน และพื้นที่ชายฝั่ง แต่เมื่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจเข้ามา ทำให้พื้นที่ป่าต้นน้ำถูกทำลาย จากเดิมที่ระบบน้ำจืดและน้ำเค็มผลักดันตามธรรมชาติ ก็แปรเปลี่ยนเพราะน้ำจืดจากป่าต้นน้ำไหลลงสู่แม่น้ำปากพนังน้อยลง น้ำเค็มจึงทะลักไกลกว่าร้อยกิโลเมตร

ไม่เพียงปัญหาน้ำเค็ม แต่ด้วยภูมิประเทศที่เป็นแอ่งกะทะ ทำให้เกิด น้ำท่วมขังเป็นเวลายาวนาน ชาวนาผลิตข้าวได้น้อยลง ส่วนพื้นที่ใกล้ชายฝั่งชาวบ้านปรับเปลี่ยน นาข้าวมาเป็นนากุ้ง แต่ด้วยไม่มีความรู้ในการจัดการ ทำให้เกิดน้ำเสียจากบ่อเลี้ยงกุ้งกระทบถึงนาข้าว ชาวบ้านทะเลาะขัดแย้งกันเอง ส่วนในพื้นที่ป่าพรุก็มีปัญหาน้ำเปรี้ยว เรียกได้ว่าพื้นที่แห่งนี้มีปัญหา 4 น้ำ 3 รส ในหลวงทรงทราบถึงปัญหา

จึงมีพระราชดำริให้กรมชลประทานก่อสร้างประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ เพื่อแยกน้ำเค็ม และ น้ำจืดออกจากกัน และแบ่งโซนน้ำจืดน้ำเค็ม เพื่อให้ชาวบ้านที่ต้องการเลี้ยงกุ้งอยู่ในโซนน้ำเค็ม ส่วนชาวบ้านที่ต้องการปลูกข้าวอยู่ในโซนน้ำจืด ปัญหาความขัดแย้งทุเลาลง ส่วนพื้นที่พรุ ก็มีราษฎรที่อาสาดูแลป่าพรุตามรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นอกจากนี้พระองค์ยังได้ให้หน่วยงานชลประทานช่วยควบคุมระดับน้ำในพรุไม่ให้แห้งจนเกิดไฟป่า และรักษาระดับน้ำไม่ให้ท่วมขังเพื่อให้ราษฎรปลูกข้าวได้

ข้อมูลเพิ่มเติม

ที่ตั้ง : อาคารพิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติ 61/61 ม.5 ต.หูล่อง อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช 80140
วันเวลาทำการ : วันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 08.30-16.30 น.

อ้างอิง Thailandtourismdirectory

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ป้อมไพรีพินาศ

ที่เที่ยวโบราณ ป้อมไพรีพินาศ จังหวัดจันทบุรี ป้อมไพรีพินาศ ตั้งอยู่บนเขาแหลมสิงห์ หมู่ 1 ตำบลบางกะไชย อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี เป็นป้อ...