วันนี้ทาง สลากไทพลัส พามาเปิดประวัติ พระคุณเจ้าหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้โปรดใช้วิจารณญาณในการเสพข้อมูล
ประวัติหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ แห่งวัดสะแก
พระคุณเจ้าหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ มีชาติกำเนิดในสกุล หนูศรี เดิมชื่อ "ดู่" ท่านเกิดในวันศุกร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๖ ปีมะโรง พ.ศ ๒๔๔๗ เป็นวันเพ็ญวิสาขปุรณมี ณ บ้านสามเขา ตำบลข้าวเม่า อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตรงกับวันศุกร์ที่ ๒๙ เมษายน พ.ศ ๒๔๔๗ (ข้อมูลจากปฏิทิน 100 ปี) โยมบิดาชื่อ พุด โยมมารดาชื่อ พ่วง ท่านมีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๓ คน ท่านเป็นบุตรคนสุดท้อง มีโยมพี่สาว ๒ คน มีชื่อตามลำดับดังนี้
๑ ทองคำ สุนิมิตร (พี่สาว)
๒ สุ่ม พึ่งกุศล (พี่สาว)
๓ ท่าน
ชีวิตในวัยเด็กของท่านดูจะขาดความอบอุ่นอยู่มาก ด้วยกำพร้าบิดามารดาตั้งแต่เยาว์วัย นายยวง พึ่งกุศล ซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานของท่านได้เล่าให้ฟังว่า บิดา มารดาของท่านมีอาชีพทำนาโดยนอกฤดูทำนาจะมีอาชีพทำขนมไข่มงคลขาย เมื่อตอนที่ท่านเป็นเด็กทารกมีเหตุการณ์สำคัญ ที่ควรจะบันทึกไว้คือ วันหนึ่งซึ่งเป็นหน้าน้ำ ขณะที่บิดามารดาของท่านกำลังทอดขนมไข่มงคลอยู่นั้น ท่านซึ่งถูกวางอยู่บนเบาะนอกชานคนเดียวไม่ทราบด้วยเหตุใดตัวท่านได้กลิ้งตกน้ำทั้งคนทั้งเบาะ แต่เป็นที่อัศจรรย์ยิ่งที่ตัวท่านไม่จมน้ำ กลับลอยน้ำจนไปติดอยู่ข้างรั้ว กระทั่งสุนัขเลี้ยงที่บ้านท่านมาเห็นเข้าจึงได้เห่าพร้อมกับวิ่งกลับไปกลับมาระหว่างตัวท่าน กับมารดาท่าน เมื่อมารดาท่านเดินตามสุนัขเลี้ยงออกมาจึงได้พบว่าท่านลอยน้ำติดอยู่ที่ข้างรั้ว ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้มารดาท่านเชื่อมั่นว่าท่านจะต้องเป็นผู้ที่มีบุญวาสนามากมาเกิดต่อมา เมื่อท่านอายุ ๔ ขวบ มารดาของท่านได้ถึงแก่กรรม และบิดาของท่าน ก็ได้จากไปอีกคน
ท่านจึงต้องกำพร้าบิดามารดาตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็กจำความไม่ได้ ท่านได้อาศัยอยู่กับยาย โดยมีโยมพี่สาวชื่อ สุ่ม เป็นผู้ดูแลเอาใจใส่และท่านก็ได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียนที่วัดกลางคลองสระบัว วัดประดู่ทรงธรรมและวัดนิเวศน์ธรรมประวัติ
สู่เพศพรหมจรรย์
เมื่อท่านอายุได้ ๒๑ ปี ก็ได้เข้าพิธีบรรพชาอุปสมบทเมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ ๒๔๖๘ ตรงกับวันอาทิตย์แรม ๔ ค่ำเดือน ๖ ณ วัดสะแก ตำบลธนู อำเภออุทัยจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมีหลวงพ่อกลั่น เจ้าอาวาสวัดพระญาติการามเป็นพระอุปัชฌาย์ มีหลวงพ่อแด่ เจ้าอาวาสวัดสะแก ขณะนั้น เป็นพระ กรรมวาจาจารย์และมีหลวงพ่อฉาย วัดกลางคลองสระบัว เป็นพระอนุศาสนาจารย์ ท่านได้รับฉายาว่า "พรหมปัญโญ" ในพรรษาแรก ๆ นั้น ท่านได้ศึกษาพระปริยัติธรรม ที่วัดประดู่ทรงธรรม ซึ่งในสมัยนั้นเรียกว่าวัดประดู่โรงธรรม โดยมีพระอาจารย์ผู้สอนคือท่านเจ้าคุณเนื่อง ,พระครูชม ,และหลวงพ่อรอด (เสือ) เป็นต้น ในด้านการปฏิบัติพระกรรมฐานนั้น ท่านก็ได้ศึกษากับหลวงพ่อกลั่นผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ และหลวงพ่อเภา ศิษย์องค์สำคัญของหลวงพ่อกลั่น ซึ่งมีศักดิ์เป็นอาของท่าน นอกจากนี้ท่านยังได้ศึกษาจากตำรับตำราที่มีอยู่ในชาดกบ้าง จากธรรมบทบ้าง และด้วยความที่ท่านเป็นผู้ที่รักการศึกษาค้นคว้า ท่านจึงได้เดินทางไปศึกษาหาความรู้ เพิ่มเติมจากพระอาจารย์อีกหลายท่าน ทั้งจังหวัดสุพรรณบุรี และสระบุรี ประมาณพรรษาที่ ๓ ท่านก็ได้เดินธุดงค์ออกจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มุ่งตรงสู่จังหวัดสระบุรี กราบนมัสการพระพุทธฉายและรอยพระพุทธบาท จากนั้นท่านได้ธุดงค์ไปยังจังหวัดสิงห์บุรี สุพรรณบุรี และกาญจนบุรี โดยใช้เวลาเดินธุดงค์ประมาณ ๓ เดือน หลวงปู่ดู่ ท่านได้ตัดสินใจไม่รับกิจนิมนต์ไปนอกวัดตั้งแต่ก่อนปีพ.ศ ๒๔๙๐ เพื่อที่จะใช้เวลาปฏิบัติ และโปรดญาติโยม ซึ่งท่านให้ความสำคัญในเรื่องของการปฏิบัติภาวนาอย่างที่สุด
อยู่มาวันหนึ่ง เข้าใจว่าก่อนปี พ.ศ ๒๕๐๐ เล็กน้อย หลังจากที่หลวงปู่ดู่สวดมนต์ทำวัตรเย็น และปฏิบัติกิจส่วนตัว เสร็จเรียบร้อยแล้วท่านก็จำวัด เกิดนิมิตไปว่า ท่านได้ฉันดาวที่มีแสงสว่างเข้าไป ๓ ดวงในขณะที่กำลังฉันอยู่นั้นก็รู้สึกว่ากรอบดี ก็เลยฉันเข้าไปทั้งหมด แล้วจึงตกใจตื่น เมื่อท่านมาพิจารณาใคร่ครวญถึงนิมิตที่เกิดขึ้นก็เข้าใจได้ว่า แก้ว ๓ ดวงนั้นจะต้องเป็นแก้ว ๓ ประการ ได้แก่พระไตรสรณคมน์ เมื่อหลวงปู่ว่า "พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ สังฆัง สรณัง คัจฉามิ” ก็เกิดอัศจรรย์ขึ้นในจิตท่าน จนท่านเกิดความมั่นใจว่าพระไตรสรณคมน์นี้เป็นแก่นแท้ และรากแก้วของพระพุทธศาสนา การสมาทานศีล ๕ ศีล ๘ หรือการขอบรรพชาอุปสมบท ก็ต้องว่าไตรสรณคมน์นี้ทุกครั้ง ท่านจึงกำหนดเอาเป็นองค์ภาวนา
ในเรื่องของการปฏิบัติสมาธิภาวนานั้น ท่านว่า "ถ้าไม่เอา (ปฏิบัติ) เป็นเถ้าเสียดีกว่า" ในสมัยก่อนเมื่อตอนที่ศาลาปฏิบัติธรรมหน้ากุฏิท่านยังสร้างไม่เสร็จนั้น ท่านก็เมตตาให้ใช้ห้องส่วนตัวที่ท่านใช้จำวัดเป็นที่รับรองสานุศิษย์ และผู้สนใจได้ใช้เป็นที่ปฏิบัติธรรม ซึ่งนับเป็นความเมตตาอย่างสูง สำหรับผู้ที่ไปกราบนมัสการท่านบ่อย ๆ หรือผู้ที่มีโอกาสได้ฟังท่านสนทนาธรรมก็คงได้เห็นวิธีการสอนของท่าน ซึ่งท่านจะโน้มน้าวผู้ฟังให้วกเข้าสู่การปรับปรุงแก้ไขตนเอง เช่นครั้งหนึ่ง มีลูกศิษย์วิพากษ์วิจารณ์คนนั้นคนนี้ให้ท่านฟังในเชิงว่ากล่าวว่าเป็นต้นเหตุของปัญหาและความยุ่งยาก ท่านกลับไม่เออออตามอันจะทำให้เรื่องบานปลายออกไป ท่านก็กล่าวปรามว่า "เรื่องของคนอื่น เราไปแก้เขาไม่ได้ ที่แก้ได้คือตัวเรา แก้ข้างนอกเป็นเรื่องโลก แต่แก้ที่ตัวเราเป็นเรื่องธรรม"
อุบายธรรม
หลวงปู่ดู่ เป็นผู้ที่มีอุบายธรรมลึกซึ้ง สามารถขัดเกลาจิตใจคนอย่างค่อยเป็นค่อยไป มิได้เร่งรัดเอาผล เช่นครั้งหนึ่งมีนักเลงเหล้าติดตามเพื่อนซึ่งเป็นลูกศิษย์มากราบนมัสการท่าน สนทนากันได้สักพักหนึ่งนักเลงเหล้าผู้นั้นก็แย้งว่า จะให้ผมสมาทานศีลและปฏิบัติได้ยังไง ก็ผมยังกินเหล้าเมาอยู่นี่ครับ หลวงปู่ดู่ท่านก็ตอบว่า "เอ็งจะกินก็กินไปซิข้าไม่ว่า แต่ให้เองปฏิบัติให้ข้าวันละ ๕ นาทีก็พอ" นักเลงเหล้าผู้นั้นเห็นว่านั่งสมาธิแค่วันละ ๕ นาทีไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไร จึงได้ตอบปากรับคำจากหลวงปู่ ด้วยความที่เป็นคนมีนิสัยทำอะไรทำจริงซื่อสัตย์ต่อตนเอง ทำให้เขาสามารถปฏิบัติได้สม่ำเสมอเรื่อยมามิได้ขาดแม้แต่วันเดียว บางครั้งถึงกับงดไปกินเหล้ากับเพื่อน ๆ เพราะได้เวลานั่งปฏิบัติ จิตของเขาเริ่มเสพคุ้นกับความสุขสงบจากการที่จิตเป็นสมาธิ ไม่ช้าไม่นานเขาก็สามารถเลิกเหล้าได้โดยไม่รู้ตัว ด้วยอุบายธรรมที่น้อมนำมาจากหลวงปู่ ต่อมาเขาได้มีโอกาสมานมัสการกราบหลวงปู่อีกครั้ง ที่นี้หลวงปู่ดู่ท่านให้โอวาทว่า "ที่แกปฏิบัติอยู่ให้รู้ว่าไม่ใช่เพื่อข้า แต่เพื่อตัวแกเอง" คำพูดของหลวงปู่ทำให้เขาเข้าใจอะไรมากขึ้น ถัดจากนั้นอีกประมาณ ๕ ปีเขาผู้ที่อดีตเคยเป็นนักเลงเหล้า ก็ละจากเพศฆราวาสเข้าสู่เพศบรรพชิต ตั้งใจปฏิบัติธรรมอยู่นับแต่นั้นตลอดมา
อีกครั้งหนึ่ง ชาวบ้านหาปลามากราบนมัสการท่าน ก่อนกลับท่านให้เขาสมาทานศีล ๕ เขาเกิดตะกิดตะขวงใจกราบเรียนท่านว่า “ผมไม่กล้าสมาทานศีล ๕ เพราะรู้ว่าเดี๋ยวก็ต้องไปจับปลาจับกุ้ง มันเป็นอาชีพของผมครับ” หลวงปู่ตอบเขาด้วยความเมตตาว่า “แกจะรู้หรือว่าแกจะตายเมื่อไหร่ ไม่แน่ว่าแกเดินออกไปจากกุฏิข้า แล้วอาจถูกงูกัดตายเสียกลางทางก่อนไปจับปลา จับกุ้ง ก็ได้ เพราะฉะนั้น เมื่อตอนนี้แกยังไม่ได้ทำบาปกรรมอะไร ยังไง ๆ ก็ให้มีศีลไว้ก่อน ถึงจะมีศีลขาดก็ยังดีกว่าไม่มีศีล”
และอีกครั้งหนึ่ง มีนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ๒ คน ซึ่งเป็นลูกศิษย์ท่าน มากราบลาท่านพร้อมกับเรียนให้ท่านทราบว่า จะเดินทางไปพักค้างเพื่อปฏิบัติธรรมกับท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน วัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี ท่านฟังแล้วก็ยกมือพนมขึ้นไหว้ไปทางข้าง ๆ พร้อมกับพูดว่า “ข้าโมทนากับพวกแกด้วย ตัวข้าไม่มีโอกาส” ไม่มีเลยที่ท่านจะห้ามปราม หรือแสดงอาการที่เรียกว่าหวงลูกศิษย์ ตรงกันข้ามมีแต่จะส่งเสริม สนับสนุน ให้กำลังใจ เพื่อให้ลูกศิษย์ของท่านขวนขวายในการปฏิบัติธรรมยิ่ง ๆ ขึ้นไป แต่ถ้าเป็นกรณีที่มีลูกศิษย์มาเรียนให้ท่านทราบ
ถึงครูบาอาจารย์องค์นั้นองค์นี้ ในลักษณะตื่นครูอาจารย์ ท่านก็จะปรามเพื่อวกเข้าสู่เจ้าตัว โดยท่านจะเตือนสติว่า “ครูบาอาจารย์ดี ๆ มีอยู่มากมาย แต่สำคัญที่ว่าต้องปฏิบัติให้จริง สอนตัวเองให้มาก นั่นแหละจึงจะดี”
แม้ว่าหลวงปู่ดู่ท่านจะรับรองในความศักดิ์สิทธิ์ของพระเครื่องที่ท่านอธิษฐานจิตให้ แต่สิ่งที่ท่านยกไว้เหนือกว่านั้นก็คือ การปฏิบัติ ดังจะเห็นได้จากคำพูดของท่านที่ว่า "เอาของจริงดีกว่า พุทธัง ธัมมัง สังฆัง สรณัง คัจฉามิ" นี่แหละของแท้ จากคำพูดนี้จึงเสมือนเป็นการยืนยันว่า การปฏิบัติภาวนานี้แหละเป็นที่สุดแห่งเครื่องรางของขลัง ดังที่ท่านเคยกล่าวว่า
"สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่เหนือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็คือกรรม" ดังนั้นจึงมีแต่พระสติ พระปัญญา ที่ฝึกฝนอบรมดีแล้วเท่านั้น ที่จะช่วยให้ผู้ปฏิบัติรู้เท่าทันนั่นหมายถึงสิ่งที่จะต้องเป็นไปพร้อม ๆ กันก็คือ ความพากเพียรที่ลงสู่ภาคปฏิบัติ ในมรรควิถี ที่เป็นสาระแห่งชีวิตของผู้ไม่ประมาท ดังที่ท่านพูดย้ำเสมอว่า "หมั่นทำเข้าไว้ ๆ"
กุศโลบายในการสร้างพระ
หลวงปู่ท่านไม่ได้ตั้งตัวเป็นเกจิอาจารย์ การที่ท่านสร้างหรืออนุญาตให้สร้างวัตถุมงคลก็เพราะเห็นประโยชน์ด้วยบุคคลจำนวนมากยังขาดที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ ท่านเองมิได้จำกัดสิทธิ์อยู่เฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ดังนั้นคณะศิษย์ของท่านจึงมีกว้างขวางออกไปทั้งที่ใส่ใจในธรรมล้วน ๆ หรือที่ยังต้องอิงกับวัตถุมงคล ท่านเคยพูดว่า “ติดวัตถุมงคล ก็ยังดีกว่าที่จะไปติดวัตถุอัปมงคล” ทั้งนี้ท่านย่อมใช้ดุลย์พินิจพิจารณาตามความเหมาะสม ตามความเหมาะสมควรแก่ผู้ที่ไปหาท่าน
วัตถุมงคลพระบูชาต่าง ๆ ที่ท่านเมตตาอธิษฐานจิตให้แล้วนั้นปรากฏผลแก่ผู้บูชาในด้านต่าง ๆ เช่นแคล้วคลาด เป็นต้น นั่นก็เป็นเพียงผลพลอยได้ซึ่งเป็นประโยชน์ในทางโลก แต่ประโยชน์ที่ท่านผู้สร้างมุ่งหวังอย่างแท้จริงนั้นก็คือใช้เป็นเครื่องมือในการปฏิบัติภาวนา มีพุทธานุสติกรรมฐานเป็นต้น
นอกจากนี้แล้วผู้ปฏิบัติยังได้อาศัยพลังจิตที่ท่านตั้งใจบรรจุไว้ในพระเครื่องช่วยน้อมนำและประคับประคองให้จิตรวมสงบได้เร็วขึ้น ตลอดถึงการใช้เป็นเครื่องสร้างเสริมกำลังใจ และระงับความหวาดวิตกขณะปฏิบัติอีกด้วย สิ่งนี้ถือเป็นประโยชน์ทางธรรมซึ่งจะก่อให้เกิดพัฒนาการทางจิตของผู้ใช้ไปสู่การพึ่งพาตนเองได้ เพราะการที่เราได้อาศัย พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ และสังฆัง สรณัง คัจฉามิ คือได้ยึดได้อาศัยเอาพระพุทธ พระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะในเบื้องต้นก่อน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น