วันอังคารที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2566

ป้อมไพรีพินาศ

ที่เที่ยวโบราณ ป้อมไพรีพินาศ จังหวัดจันทบุรี

ป้อมไพรีพินาศ ตั้งอยู่บนเขาแหลมสิงห์ หมู่ 1 ตำบลบางกะไชย อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี เป็นป้อมที่สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ. 2377 เพื่อเตรียมรับศึกญวณที่อาจจะยกมาทางทะเล แต่เดิมไม่มีชื่อจนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสมณฑลจันทบุรี ทรงพระราชทานนามป้อมนี้ว่า ป้อมไพรีพินาศ ซึ่งอยู่คู่กับป้อมพิฆาฏข้าศึก (ป้อมพิฆาตปัจจมิตร)

ป้อมสร้างขึ้นบริเวณปากแม่น้ำ อยู่บนเขาแหลมสิงห์ ซึ่งเป็นเขาขนาดเล็ก ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจันทบุรี มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 172 เมตร บริเวณหินชายฝั่ง ที่มีลักษณะคล้ายกับสิงโตหมอบ (จึงเรียกว่า “แหลมสิงห์”) บนเขาแหลมสิงห์เป็นทำเลที่เหมาะกับการตั้งป้อมปืน สามารถมองเห็นข้าศึกที่เข้ามาทางทะเลได้แต่ไกล

ป้อมไพรีพินาศ

ป้อมไพรีพินาศ มี 3 ชั้น คือชั้นบน ชั้นกลาง และชั้นล่าง มีการก่อสร้างลักษณะเป็นปีกกา โดยใช้การถมดินเป็นใบเสมาป้อมอันใหญ่ เรียงติดต่อกันไปเหมือนปีกกา โอบเขาทั้งสอง ตัวป้อมเป็นแบบก่ออิฐถือปูน กว้าง 3 เมตร ยาว 5 เมตร ผนังหนา 60 เซนติเมตร ใกล้กันมีคลังกระสุนดินดำ ก่อด้วยปูน ขนาดกว้าง 1 เมตร ยาว 2.8 เมตร

ปัจจุบันบริเวณป้อมปืนได้มีการปรับภูมิทัศน์ มีกระบอกปืนใหญ่ 2 กระบอก วางให้เห็นว่าเคยเป็นจุดที่เป็นป้อมปืน และมีห้องเก็บกระสุนดินดำที่ยังคงหลงเหลือร่องรอยให้เห็นอยู่ และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน โดยกรมศิลปากร เมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478 โดยประกาศเป็นพื้นที่โบราณสถานประมาณ 17 ไร่ 58 ตารางวา

เจดีย์อิสระภาพ เป็นเจดีย์ที่ตั้งอยู่ภายในป้อมไพรีพินาศ สร้างขึ้นโดยพระยาพิพิธพิไสยสุนทรการ ผู้ว่าราชการเมืองตราด ร่วมกับชาวจันทบุรีสร้างขึ้นมาบริเวณเขาแหลมสิงห์เพื่อเป็นที่ระลึกในการประกาศอิสระภาพหลังประเทศฝรั่งเศสได้ถอนกำลังออกจากจังหวัดจันทบุรี

ลักษณะสถาปัตยกรรมของเจดีย์อิสระภาพเป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูน เจดีย์เป็นทรงระฆังในผังกลม พร้อมกับฐานบัวคว่ำบัวหงายชุดมาลัยเถา บัวลูกแก้วอกไก่เป็นส่วนที่รองรับองค์ระฆัง มีลักษณะยืดสูง เหนือขึ้นไปเป็นองค์ระฆัง ประกอบกับบัลลังก์สี่เหลี่ยม เสาหานปล้องไฉนและปลียอด ฐานของเจดีย์เป็นแบบประทักษิณพร้อมทั้งพนักระเบียงในผังสี่เหลี่ยมจตุรัส มีการประดับด้วยกระเบื้องเคลือบปรุลายแบบของจีน พร้อมกับกำแพงแก้วแบบเตี้ยภายในฐานล้อมรอบเจดีย์ โดยเป็นศิลปะในยุครัตนโกสินทร์ ของศาสนาพุทธ นิกายเถราวาท

ประวัติ ป้อมไพรีพินาศ

โบราณสถานป้อมไพรีพินาศตั้งอยู่ที่หมู่ที่ ๑ บ้านแหลมสิงห์ ตำบลบางกะไชย อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี หรือพิกัดภูมิศาสตร์ที่รุ้ง ๑๓ องศา ๒๗ ลิปดา ๕๗ พิลิปดาเหนือ แวง ๑๐๑ องศา ๙ ลิปดา ๕๒ พิลิปดาตะวันออก

โดยสันนิษฐานว่า เป็นป้อมที่สร้างขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งในช่วงเวลานั้นไทยเกิดกรณีพิพาทกับญวน

เนื่องจากเหตุการณ์กบฏเจ้าอนุหรือเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทร์และกบฏองค์จันแห่งเขมร ทำให้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงขัดเคืองญวนที่ให้การช่วยเหลือเจ้าอนุและองค์จัน จึงมีพระราชดำริให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาและเจ้าพระยาพระคลังเป็นแม่ทัพควบคุมไพร่พลไปรบญวนในปี พ.ศ. ๒๓๗๖ กระทั่งในปีพ.ศ. ๒๓๗๗ จึงทรงเกรงว่าญวนจะยกไพร่พลมารบไทยคืนบ้าง จึงมีพระราชดำริให้เตรียมต่อเรือและสร้างป้อมขึ้นเพื่อป้องกัน โดยให้เจ้าพระยาพระคลังเป็นแม่กองเกณฑ์คนทำการต่อเรือ และให้เจ้าพระยาพระคลังเป็นแม่กองไปสร้างเมืองจันทบุรีขึ้นใหม่ที่ค่ายเนินวงพร้อมกับสร้างวัดโยธานิมิตเพื่อเป็นวัดประจำเมืองแล้วให้จมื่นราชามาตย์ ชื่อขำ หรือต่อมาเป็นเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ไปสร้างป้อมที่ปากน้ำจันทบุรี ดังความว่า

ทางขึ้นป้อมไพรีพินาศ

“… ให้เจ้าพระยาพระคลังเป็นแม่กองไปสร้างเมืองจันทบุรี เจ้าพระยาพระคลังให้รื้อกำแพงเมืองเก่าเสีย เพราะด้วยอยู่ลึกเข้าไปนัก ไม่เป็นที่รับรองข้าศึก จึ่งสร้างเมืองใหม่ขึ้นที่เนินวง ด้วยบ้านราษฎรอยู่ลึกเข้าไปข้างหลัง เมืองเป็นที่ป้องกันครอบครัวพลเมืองได้ แล้วจึงสร้างวัดขึ้นสำหรับเมืองวัด ๑ ชื่อวัดโยธานิมิต แล้วให้จมื่นราชามาตย์ ชื่อขำ ไปทำป้อมที่แหลมด่านปากน้ำป้อม ๑ ชื่อ ป้อมภัยพินาศ ที่เขาแหลมสิงห์ป้อมเก่าทำเสียใหม่ ป้อม ๑ ชื่อ ป้อมพิฆาฏปัจจามิตร แล้วโปรดให้จมื่นไวยวรนารถ ชื่อช่วง ต่อกำปั่นขึ้นลำ ๑ ปากกว้าง ๑๐ ศอก เป็นตัวอย่าง…”

อีกทั้งยังมีพระราชดำริให้สร้างป้อมเมืองฉะเชิงเทราและป้อมคงกระพันที่ปากคลองบางปลากดเมืองสมุทรปราการเพื่อเตรียมการป้องกันในครั้งนี้ด้วย

ป้อมที่ปากน้ำจันทบุรีทั้งสองแห่งที่ปรากฏในหลักฐานเอกสารนี้ ภายหลังได้รับการพระราชทานชื่อใหม่โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือรัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อครั้งยังทรงผนวชและได้เสด็จประพาสเมืองจันทบุรีพร้อมกับได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรป้อมทั้งสองแห่งนี้ ซึ่งได้พระราชทานชื่อป้อมที่เขาแหลมสิงห์ (ป้อมพิฆาฏปัจจามิตรในสมัยรัชกาลที่ ๓) ว่า “ป้อมไพรีพินาศ” และป้อมที่หัวแหลม (ป้อมภัยพินาศ) ว่า “ป้อมพิฆาฏข้าศึก” โดยในปัจจุบันป้อมไพรีพินาศยังคงหลงเหลือร่องรอยหลักฐานให้เห็น แต่ป้อมพิฆาฏข้าศึกนั้น แทบไม่หลงเหลือร่องรอยหลักฐาน เนื่องจากบริเวณที่ตั้งของป้อมพิฆาฏข้าศึกเป็นที่ตั้งของตึกแดงที่สร้างขึ้นภายหลังในสมัยที่ฝรั่งเศสยึดเมืองจันทบุรีในปี พ.ศ. ๒๔๓๖

ลักษณะของป้อม

เป็นป้อมที่ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาแหลมสิงห์ที่ยื่นออกไปทางทะเลด้านตะวันออก มีลักษณะเป็นแนวกำแพงป้อมก่ออิฐถือปูนที่ก่อขึ้นมาบนพื้นเขาธรรมชาติ โค้งไปตามแนวเชิงเขา มีขนาดความกว้างประมาณ ๓ เมตร ยาวประมาณ ๕ เมตร และแนวกำแพงป้อมหนาประมาณ ๖๐ เซนติเมตร บริเวณป้อมพบปืนใหญ่ที่ผลิตโดยบริษัทอาร์มสตรอง ประเทศอังกฤษ ซึ่งผลิตขึ้นในปี ค.ศ. ๑๘๖๘ (พ.ศ. ๒๔๑๑) มีลักษณะเป็นปืนใหญ่ที่หล่อด้วยเหล็ก บรรจุกระสุนทางปากลำกล้อง มีขนาดความยาวประมาณ ๒.๓ เมตร นอกจากนี้บริเวณทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือของป้อมมีคลังกระสุนดินดำก่ออิฐถือปูนมีขนาดความกว้างประมาณ ๑ เมตร ยาว ๒.๘๐ เมตร โดยผลการขุดตรวจทางโบราณคดีในปี พ.ศ. ๒๕๕๕ พบว่าป้อมไพรีพินาศเป็นป้อมที่สร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งไม่พบหลักฐานการสร้างเพิ่มเติมในสมัยหลัง และคลังกระสุนดินดำสร้างขึ้นพร้อมกันกับตัวป้อม

บริเวณใกล้กับป้อมไพรีพินาศมีเจดีย์ทรงระฆังจำนวน ๑ องค์ ซึ่งชาวจันทบุรีสร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๔๙ เพื่อเป็นที่ระลึกถึงเหตุการณ์ที่กองทหารฝรั่งเศสถอนกำลังออกจากเมืองจันทบุรี โดยได้สร้างครอบเจดีย์องค์เดิมที่สร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งปรากฏเรื่องราวอยู่ในหลักฐานเอกสารพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เรื่องเสด็จประพาสจันทบุรี เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๙ ดังความว่า

“… แล้วเดินขึ้นไปเขาสูงประมาณสัก ๓๐ วา มีใบเสมาป้อมก่อไปตามไหล่เขาอีกชั้นหนึ่ง ข้างบนนั้นเป็นพระเจดีย์ ว่าพระพิพิธเมืองตราดมาสร้างไว้ เป็นพระเจดีย์ตามธรรมเนียม…”

กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนป้อมไพรีพินาศ ตำบลบางกะไชย อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี เป็นโบราณสถานสำหรับชาติ ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๒ หน้า ๓๖๘๑ ลงวันที่ ๘ มีนาคม ๒๔๗๘ และประกาศกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานป้อมไพรีพินาศ ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๙ ตอนพิเศษ ๑๒๙ง ลงวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๔๕ พื้นที่โบราณสถานประมาณ ๑๗ ไร่ ๕๘ ตารางวา

ป้อมไพรีพินาศ

พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์อยุธยา

 

พาเที่ยว พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์อยุธยา

พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์อยุธยา จัดตั้งขึ้นตามโครงการที่นักวิชาการไทยและนักวิชาการญี่ปุ่นปรับขยายมาจากข้อเสนอเดิมของสมาคมไทย-ญี่ปุ่นและจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเคยเสนอปรับปรุงบริเวณที่เคยเป็นหมู่บ้านญี่ปุ่นให้จัดสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์หมู่บ้านญี่ปุ่น

พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์อยุธยา

อยุธยาเต็มไปด้วยความหลากหลายทางชาติพันธุ์และศาสนา ทั้งไทย จีน แขก ฝรั่ง และญี่ปุ่นด้วย มีหลักฐานสำคัญที่บ่งบอกว่ามีชาวญี่ปุ่นเคยตั้งรกรากที่อยุธยา กระทั่งเกิดเป็นหมู่บ้านญี่ปุ่น ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยาอันเกิดจากความร่วมมือระหว่างนักวิชาการไทย-ญี่ปุ่น เพื่อศึกษาอดีตเมืองหลวงสยามที่รุ่งเรืองมายาวนานถึง 417 ปี ซึ่งพ่วงไปด้วยความเป็นมาของภูมิภาคอุษาคเนย์อย่างแยกกันไม่ออก เท่ากับได้รู้จักอดีตของไทยและของอาเซียนไปพร้อม ๆ กัน ผ่านการทำความเข้าใจสังคมในอดีตของกรุงศรีอยุธยารัฐบาลญี่ปุ่นมอบทุนก่อตั้งแบบให้เปล่า 999 ล้านเยน (ประมาณ 170 ล้านบาทในเวลานั้น) เพื่อเทิดพระเกียรติdพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวโรกาสที่ทรงเจริญพระชนมายุครบ 60 พรรษาใน พ.ศ. 2530 และในโอกาสที่ประเทศไทยและญี่ปุ่นมีไมตรีอันแน่นแฟ้นต่อกันมาครบ 600 ปี พื้นที่ภายในศูนย์แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนแรกที่ตั้งอยู่ในเกาะเมือง ติดกับสถาบันราชภัฏอยุธยาและส่วนที่ 2 อยู่ในหมู่บ้านญี่ปุ่นเดิมสมัยอยุธยา ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก ใต้วัดพนัญเชิงภายในศูนย์เปิดให้ผู้ที่สนใจได้เข้าชมนิทรรศการถาวรที่จัดแสดงแผนที่และแบบจำลอง เพื่อทำความรู้จักกรุงศรีอยุธยาที่เป็นราชธานี เมืองท่า ศูนย์กลางอำนาจทางการเมืองและการปกครองแหล่งพักพิงของชาวบ้านและศูนย์กลางการค้ากับต่างประเทศ มีแบบจำลองที่น่าสนใจ เช่น ภาพเขียนสีน้ำมันแผนผังเมืองอยุธยาในสายตาของพ่อค้าชาวดัตช์ช่วง คริสต์ศตวรรษที่ 17 หรือปลายพุทธศตวรรษที่ 22 แบบจำลองของพระราชวังโบราณ วัดไชยวัฒนาราม และเพนียดคล้องช้าง เรือจำลอง เช่น เรือสำเภาจีน เรือคาร์แรทของสเปนและโปรตุเกส รวมทั้งเรือแกลลิออนของฮอลันดา แบบจำลองภายในวิหารพระศรีสรรเพชญ์ และแบบจำลองของหมู่บ้านและในบ้านของราษฎร นับเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของอยุธยาและของสยามได้ครบถ้วนและเห็นภาพชัดเจนที่สุดแห่งหนึ่ง เปิดทำการทุกวัน เวลา 09.00-17.00 น. ค่าเข้าชมนักเรียนและนักศึกษาในเครื่องแบบไม่เสียค่าเข้าชม ประชาชนทั่วไป 20 บาท ชาวต่างชาติ ผู้ใหญ่ 100 บาท เด็ก 50 บาท สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 0 3524 5123 4

ข้อมูลสถานที่

ศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา เป็นอาคาร 2 ชั้น มีห้องจัดแสดงพิพิธภัณฑ์อยู่ชั้นบน จัดแสดงพัฒนาการของกรุงศรีอยุธยานับแต่อดีตกระทั่งปัจจุบัน โดยสรุปให้เห็นสถานะสำคัญของอยุธยาด้านต่าง ๆ นำเสนอด้วยรูปแบบที่ทันสมัย ให้ทั้งความรู้และความเพลิดเพลิน นับเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของอยุธยาและของสยามได้ครบถ้วนและเห็นภาพชัดเจนที่สุดแห่งหนึ่ง

ภายในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์อยุธยา

ลักษณะเด่น

-ศึกษาประวัติศาสตร์ของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

-ข้อมูลสถานที่ต่างๆทั่วจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ประวัติ พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์อยุธยา

ศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา ได้ก่อตั้งขึึ้นเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2530 ช่วยเฟลือแบบให้เปล่าจากรัฐบาลญี่ปุ่น เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติเนื่องในพระราชวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 60 พรรษา และเพื่อเป็นที่ระลึกในโอกาสที่มิตรภาพระหว่างประเทศญี่ปุ่นกับราชอาณาจักรไทยยืนยาวมาครบ 100 ปี

การซื้อบัตรเข้าชม

บัตรเข้าชมแบบรวม สำหรับชาวไทย 40 บาท ชาวต่างชาติ 220 บาท โดยบัตรนี้สามารถเข้าชมวัดและโบราณสถานบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ได้ ภายในระยะเวลา 30 วัน

ข้อมูลทั่วไปที่ควรรู้

นักท่องเที่ยวควรแต่งกายให้สุภาพ สวมเสื้อมีแขน สวมกระโปรงหรือกางเกงขายาว และไม่สวมเสื้อผ้าที่รัดรูป จนเกินไป นอกจากนี้ ไม่ควรกระทำสิ่งใดที่เป็นการสร้างอันตรายและความเสียหายต่อตัวโบราณสถาน รวมถึงการปีนป่ายและเข้าไปยังพื้นที่ห้ามเข้าอีกด้วย

พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์อยุธยา
หน้าปก พิพิธภัณฑ์บ้านคำอูน

พิพิธภัณฑ์บ้านคำอูน

พาชม พิพิธภัณฑ์บ้านคำอูน จังหวัดเชียงใหม่

พิพิธภัณฑ์บ้านคำอูน เป็นแหล่งรวมของศิลปวัตถุโบราณและหายากยุคบ้านเชียงถึงปัจจุบัน อาคารไม้สักสีทองสวยสะดุดตาหลังนี้ คือแหล่งรวมของศิลปวัตถุโบราณและหายากตั้งแต่ยุคบ้านเชียงจนถึงปัจจุบัน ที่นี่ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2539 ประกอบไปด้วยอาคาร 2 หลังที่เชื่อมต่อกันด้วยชานเรือนโดยหลังเดิมเคยเป็นพิพิธภัณฑ์แม่สามาก่อน ซึ่งหลังที่หนึ่งเป็นบ้านทรงไทยแบบล้านนา จัดแสดงโบราณวัตถุหายาก เช่น เครื่องเรือน ภาพเขียน งานเครื่องเขิน เครื่องเงิน ไม้แกะสลักพระพุทธรูป มีห้องจีนที่มีเตียงโบราณสมัยราชวงศ์ชิงที่งดงามยิ่ง รวมทั้งผ้าไหมนับพันชิ้นไว้ให้ชม ส่วนอีกหลังสร้างเป็นเรือนทรงไทยภาคกลาง จัดแสดงวัตถุโบราณ และเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวสามารถเลือกซื้อไปสะสมได้ นอกจากนี้ยังมีส่วนจัดแสดงภาชนะเครื่องปั้นดินเผายุคบ้านเชียง ตู้โบราณ ตั่งแว่น (โต๊ะเครื่องแป้ง) เตียงไม้โบราณ และด้วยบรรยากาศของที่นี่รายล้อมด้วยพรรณไม้ไทย จึงนับเป็นพิพิธภัณฑ์อีกแห่งที่มีความร่มรื่น ผ่อนคลาย เหมาะสำหรับศึกษาหาความรู้ในวันหยุดพักผ่อน ที่ตั้ง : ตั้งอยู่ระหว่างกิโลเมตร 3 และ 4 ถนนแม่ริม-สะเมิง ตำบลแม่แรม อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 09.00-16.00 น ค่าเข้าชม เด็ก 30 บาท ผู้ใหญ่ 100 บาท สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 5329 8068

พิพิธภัณฑ์บ้านคำอูน

ข้อมูลสถานที่

พิพิธภัณฑ์แสดงของศิลปวัตถุโบราณ มีบรรยากาศร่มรื่นน่าพักผ่อน เหมาะแก่การศึกษาหาความรู้ในวันหยุดพักผ่อน

ลักษณะเด่น

-แวดล้อมด้วยพันธุ์พฤกษชาติและกล้วยไม้ป่านานาพันธุ์ให้ความร่มรื่น –

ประวัติ พิพิธภัณฑ์บ้านคำอูน

พิพิธภัณฑ์บ้านคำอูนเป็นพิพิธภัณฑ์เอกชน ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2539 โดยคุณวิสุตา สาณะเสน ผู้ได้จัดตั้งศูนย์ศิลปะ และประสบความสำเร็จอย่างงดงามมาแล้วหลายแห่ง

ข้อมูลเพิ่มเติม
พิพิธภัณฑ์มีลักษณะเป็นอาคารไม้สักสีทองสวยสะดุดตา ประกอบไปด้วยอาคาร 2 หลังเป็นเอกเทศ ด้านหลังเชื่อมต่อกันด้วยชานเรือน หลังเดิมเคยเป็นพิพิธภัณฑ์แม่สามาก่อน บริเวณโดยรอบแวดล้อมด้วยพันธุ์พฤกษาและกล้วยไม้ป่านานาพันธุ์สวยงามร่มรื่น หลังที่หนึ่งเป็นบ้านทรงไทยแบบล้านนาจัดแสดงโบราณวัตถุหายาก เช่น เครื่องเรือนที่สวยงาม ภาพเขียน งานเครื่องเงิน ไม้แกะสลักพระพุทธรูป มีห้องจีนที่มีเตียงโบราณสมัยราชวงศ์ชิงที่งดงามวิจิตรยิ่ง นอกจากนั้นยังมีผ้าไหมนับพันชิ้นให้ได้ชม ส่วนอีกหลังสร้างเป็นทรงไทยภาคกลางจัดเป็นห้องโถงแสดงวัตถุโบราณเช่นกันแต่สามารถเลือกซื้อสะสมได้ และยังจำหน่ายขายของที่ระลึกให้แก่ผู้มาเยี่ยมชม นอกจากนี้ยังมีส่วนจัดแสดงภาชนะเครื่องปั้นดินเผายุคบ้านเชียง ตู้โบราณ โต๊ะเครื่องแป้ง ชมเตียงไม้แบบโบราณ และรายล้อมด้วยสวนไม้ไทยนับว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ที่เหมาะแก่การศึกษาหาความรู้ในวันหยุดพักผ่อน

ราคาเข้าชม

ไม่มีค่าใช้จ่าย

วันเวลาทำการ

  • วันจันทร์ 09:00 น. -16:00 น.
  • วันอังคาร 09:00 น. -16:00 น.
  • วันพุธ 09:00 น. -16:00 น.
  • วันพฤหัสบดี 09:00 น. -16:00 น.
  • วันศุกร์ 09:00 น. -16:00 น.
  • วันเสาร์ 09:00 น. -16:00 น.
  • วันอาทิตย์ 09:00 น. -16:00 น.
  • หมายเหตุเวลาทำการ: วันและเวลาทำการอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม

พิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา

พิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา

พิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา (อังกฤษ: Korat Museum) เป็นพิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่ ณ อาคาร 10 สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เปิดให้บริการอย่างไม่เป็นทางการเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2557

พิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา

ประวัติ พิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา

พิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา ได้มีการพัฒนามาจาก “หอวัฒนธรรมนครราชสีมา” เมื่อ พ.ศ. 2523 เมื่อครั้งสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ยังเป็นศูนย์ศิลปวัฒนธรรมของวิทยาลัยครูนครราชสีมา โดยมีว่าที่ ร.ต. ถาวร สุบงกช เป็นหัวหน้าศูนย์ในขณะนั้น โดยใช้ห้อง 514-515 เป็นสถานที่เก็บรวบรวมโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและสิ่งอื่นๆ ที่ได้รับจากการบริจาคและขอซื้อเพิ่มเติมจนถึงปี พ.ศ. 2529 ได้ย้ายหอวัฒนธรรมไปอยู่ที่ อาคาร 2 ซึ่งเป็นอาคารไม้ดั้งเดิมของสถาบัน

จากนั้น พ.ศ. 2538 ได้มีการเคลื่อนย้าย อาคาร 1 และอาคาร 2 (โดยวิธีการดีดและเคลื่อนย้ายโดยรางรถไฟ) ไปยุบรวมอาคารทั้งสองและให้หมายเลขอาคารว่าอาคาร 1 ซึ่งหอวัฒนธรรม ก็ได้ย้ายไปตั้ง ณ อาคาร 1 ด้วย เช่นกัน

พ.ศ. 2555 ได้มีการรื้อถอนอาคาร 1 เพื่อดำเนินการก่อสร้างศูนย์รวมกิจการนักศึกษาและหอประชุมนานาชาติ ดังนั้นในวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 หอวัฒนธรรมจึงได้ถูกรื้อถอนอีกครั้งหนึ่ง

พ.ศ. 2556 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เศาวนิต เศาณานนท์ อธิการบดีในขณะนั้น ได้อนุมัติงบประมาณจำนวน 4.5 ล้านบาท เพื่อให้อาจารย์วิลาวัลย์ วัชระเกียรติศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักฯ ดำเนินการออกแบบและจัดสร้างนิทรรศการ ณ อาคาร 10 ซึ่งเป็นอาคารเดิมของคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ใช้งานมาตั้งแต่ พ.ศ. 2515 รวมเวลากว่า 40 ปี โดยได้ปรับปรุงบทและเนื้อหาการจัดแสดงโดยใช้รูปแบบเดิมที่เคยจัดแสดง ณ อาคาร 1 มาเป็นฐาน โดยต่อยอดการพัฒนาโดยเน้นความเชื่อมโยงของเรื่องราวร่วมกับโบราณวัตถุที่จัดแสดง และพัฒนาเนื้อหาในส่วนของความเจริญของจังหวัดนครราชสีมาในด้านต่างๆ เพิ่มเติม เพื่อให้เห็นพัฒนาการของจังหวัดนครราชสีมาที่มีเป็นมาอย่างยาวนาน โดยใช้ชื่อ “พิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา” ภายใต้แนวคิด “บรรยากาศย้อนอดีต เพลินพินิจนครราชสีมา” ซึ่งก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือนเมษายน พ.ศ. 2557 ในสมัยการบริหารของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ณัฐกิตติ์ อินทร์สวรรค์ ผู้อำนวยการสำนักฯ คนปัจจุบัน

พ.ศ. 2558 พิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา ได้รับการคัดเลือกจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ 1 ใน 60 แหล่ง เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558

พ.ศ. 2559 สำนักศิลปะและวัฒนธรรม ร่วมกับสมาคมศิษย์เก่าวิทยาลัยครูนครราชสีมา ดำเนินการจัดสร้างเรือนโคราช ส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาซุมโคราช ได้รับสนับสนุนงบประมาณสมาคมศิษย์เก่าวิทยาลัยครูนครราชสีมา โดยมี ดร.นิเชต สุนทรพิทักษ์เป็นประธาน และมีผศ.นฤมล ปิยวิทย์ เป็นผู้ัดำเนินการหลัก

พ.ศ. 2561 เรือนโคราช มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น ประจำปี 2561 ประเภทอาคารสถาบันและอาคารสาธารณะ จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมป์

ภายในพิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา

พื้นที่จัดแสดง แบ่งหัวข้อการจัดแสดงออกเป็น 7 ห้อง ดังนี้

  • ต้นกำเนิดอารยธรรม
  • สมัยทวารวดี
  • สมัยลพบุรี
  • สมัยอยุธยา
  • สมัยรัตนโกสินทร์
  • มหานครแห่งอีสาน
  • ของดีโคราช (นิทรรศการหมุนเวียน)
  • ห้องต้นกำเนิดอารยธรรม

ห้องต้นกำเนิดอารยธรรม

เป็นส่วนนำเสนอเนื้อหาในการค้นพบมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่มีการศึกษาค้นคว้าอย่างต่อเนื่องในแถบลุ่มแม่น้ำมูลตอนต้น โดยเฉพาะในเขตจังหวัดนครราชสีมาซึ่งมีประวัติศาสตร์อายุสมัยไม่ต่ำกว่า 4,500 ปี หลายแหล่ง สามารถฉายภาพอดีตให้เห็นว่าบรรพบุรุษในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ มีการดำรงชีวิตอย่างไรบ้าง รวมถึงให้ข้อมูลเบื้องต้นเพื่อตอบคำถามว่า “ทำไมโบราณคดีจึงศึกษาวิจัย ณ ลุ่มแม่น้ำมูลตอนต้น เป็นจำนวนมาก”

ห้องสมัยทวารวดี

ห้องสมัยทวารวดี
นำเสนอเนื้อหาถึงชุมชนโบราณสมัยประวัติศาสตร์แรกเริ่มได้เข้ามาตั้งหลักแหล่งอยู่ ณ เมืองเสมา ราวพุทธศตวรรษที่ 12 โดยได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมอินเดีย คือนำศาสนาพุทธและพราหมณ์เข้ามาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน แต่คงขนบธรรมเนียมบางอย่างไว้ เช่น การฝังศพนอนหงาย เหยียดยาว รวมทั้งอุทิศสิ่งของต่างๆ ให้กับศพซึ่งเป็นความเชื่อดั้งเดิมตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ แทนที่จะปลงศพด้วยการเผาตามแบบศาสนาพุทธ

ห้องสมัยลพบุรี

ห้องสมัยลพบุรี
นำเสนอเนื้อหาถึงวัฒนธรรมขอมที่ได้แผ่อิทธิพลมายังภาคอีสาน ส่งผลต่อความความเปลี่ยนแปลงอย่างมากในช่วงสมัยลพบุรี ประมาณพุทธศตวรรษที่ 16-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านศิลปกรรมและวัฒนธรรมทางความเชื่อ ซึ่งสะท้อนอยู่ในโบราณสถานที่ได้รับแบบอย่างจากวัฒนธรรมขอมที่สำคัญ ได้แก่ แบบแผนการสร้างเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยม การสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่เรียกว่าบาราย ศาสนสถานขนาดใหญ่ในรูปแบบปราสาทหิน เครื่องปั้นดินเผาแบบขอม เป็นต้น

ภายในพิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา

ห้องสมัยอยุธยา

ห้องสมัยอยุธยา
นำเสนอเนื้อหาในส่วนของการก่อตั้ง “เมืองนครราชสีมา” ซึ่งเริ่มต้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี มีฐานะเป็นเมืองชั้นโท มีบทบาทสำคัญในการเป็นฉนวนป้องกันการรุกรานของขแมร์ (เขมร) ลาว ญวน และเป็นหัวเมืองใหญ่ควบคุมเขมรป่าดงที่ขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยา ทำให้ได้มีการสร้างป้อมปราการให้มั่นคงแบบฝรั่ง และส่งเจ้านายผู้ใกล้ชิดมาปกครองเมือง โดยได้นำรูปแบบการออกแบบผังเมืองและสถาปัตยกรรมที่มีลักษณะตามแบบกรุงศรีอยุธยา ซึ่งยังคงหลงเหลือปรากฏให้เห็นจนถึงปัจจุบัน

ห้องสมัยรัตนโกสินทร์

ห้องสมัยรัตนโกสินทร์
นำเสนอเนื้อหาของเมืองนครราชสีมาในสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดเกล้าฯ ให้เมืองนครราชสีมามีฐานะเป็นเมืองเอก ส่วนการดำรงชีวิตของชาวโคราชในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้นถือว่าไม่ต่างจากในสมัยอยุธยามากนัก เนื่องจากการเดินทางไปเมืองหลวงยังไม่สะดวกเท่าที่ควร ในด้านทำเลที่ตั้งนครราชสีมายังเป็นเมืองที่คอยสกัดกั้นการรุกรานจากข้าศึกในด้านภาคอีสานจนเกิดวีรกรรมทุ่งสัมฤทธิ์ของคุณหญิงโมซึ่งได้รับการสถาปนาเป็นท้าวสุรนารีในภายหลัง

ห้องมหานครแห่งอีสาน

นำเสนอเนื้อหาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นระยะที่มหาอำนาจตะวันตกกำลังดำเนินนโยบายแผ่ขยายอำนาจทางการเมืองเข้ามาทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงทำให้มีการปฏิรูปการปกครองจัดหัวเมืองเป็นมณฑลเทศาภิบาล และยังใช้เมืองนครราชสีมาเป็นแหล่งยุทธศาสตร์ทางทหาร ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นตัวอย่างของการยอมรับอำนาจของรัฐบาลกลางได้อย่างผสมกลมกลืนกันในทางสังคมและทางวัฒนธรรมของชาวกรุงเทพฯและชาวอีสานอีกด้วย

และในส่วนนี้ยังนำเสนอเนื้อหาในการจัดสร้างสนามกีฬาเพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 333 ปีเมืองนครราชสีมา ในปี 2547 และได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาซีเกมส์และอาเซียนพาราเกมส์ ในปี 2550-2551นับเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้เมืองนครราชสีมาพัฒนาไปสู่การเป็นมหานครแห่งการกีฬา

ห้องของดีเมืองโคราช

ได้นำเสนอเนื้อหาในส่วนของดีโคราชที่มีอย่างมากมาย โดยเฉพาะในคำขวัญเก่าของจังหวัด คือ “โคราชลือเลื่อง เมืองก่อนเก่า นกเขาคารม อ้อยคันร่ม ส้มขี้ม้า ผ้าหางกระรอก” และได้คัดเลือกบางส่วนมาจัดแสดงเพื่อนำเสนอให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้รู้จักว่าโคราชมีของดีอีกมากมายที่ได้รับการกล่าวขวัญในอดีต ทั้งมวยโคราช ผ้าหางกระรอก รถสามล้อถีบ รำโทนโคราช และเพลงโคราช และนอกจากนี้ยังได้รองรับการจัดนิทรรศการหมุนเวียนอีกด้วย

 

วัดเชิงท่า

 

วัดเชิงท่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

วัดเชิงท่า ตั้งอยู่ริมฝั่งซ้ายของคลองเมืองหรือแม่น้ำลพบุรีเดิม สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา ในสมัยรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เจ้าพระยาโกษาปานได้ปฏิสังขรณ์วัด แล้วได้เปลี่ยนชื่อว่าวัดโกษาวาส

วัดเชิงท่า

ที่อยุธยามีวัดเชิงท่าอยู่ 2 แห่งคือที่อำเภอบางปะอินและอำเภอเมือง ซึ่งวัดเชิงท่าที่จะกล่าวถึงนี้เป็นวัดในอำเภอเมือง อยู่บริเวณท่าข้ามเรือฝั่งเกาะเมืองมายังฝั่งวัดเชิงท่า จึงเป็นที่มาของชื่อวัดเชิงท่าหรือวัดตีนท่า วัดแห่งนี้มีตำนานการก่อสร้างหลายสำนวน ทั้งในประวัติศาสตร์และวรรณคดี เช่น ตำนานว่ามีเศรษฐีสร้างเรือนหอให้บุตรสาวซึ่งหนีตามชายคนรักไปแล้วไม่ย้อนกลับ จึงถวายเรือนหอแก่วัดที่สร้างขึ้น ชื่อว่า วัดคอยท่า ซึ่งปรากฎในนิราศทวารวดีของหลวงจักรปราณีแต่หลักฐานทางประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่า เมื่อพระยาโกษาปานราชทูตไทยสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กลับมาจากฝรั่งเศสแล้วได้มาปฏิสังขรณ์วัดนี้และเปลี่ยนชื่อเป็นวัดโกษาวาส รวมทั้งเป็นสถานศึกษาของนายสิน หรือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ได้ทรงศึกษาภาษาไทย ขอมและพระไตรปิฎกที่วัดนี้ บริเวณวัดยังมีโบราณสถานสำคัญประจำวัด ได้แก่ ปรางค์ห้ายอดสมัยอยุธยา ซึ่งมีลักษณะพิเศษหาที่อื่นไม่ได้ โดยก่อฐานพระปรางค์เป็นทรงแท่งสี่เหลี่ยมจตุรัสและสร้างวิหารยื่นออกไปเป็นรูปกากบาทหรือไม้กางเขนโดยเฉพาะทางทิศใต้ซึ่งเป็นหน้าวัดแต่เดิม สร้างเป็นวิหารขนาดใหญ่เป็นมหาปราสาทยอดปรางค์ที่พบที่วัดเชิงท่านี้แห่งเดียว ส่วนศาลาการเปรียญสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 ภายในมีธรรมาสน์ปิดทองคำเปลวงดงาม ลายจำหลักไม้หน้าบันว่ากันว่าเป็นของเดิมที่เหลือรอดมาจากครั้งกรุงแตก ซึ่งย้ายมาจากวัดพระศรีสรรเพชญ์ในพระราชวังโบราณและยังมีงานช่างฝีมือเล็ก ๆ น้อย ๆ มากมาย เช่น ลายจำหลักไม้ที่ส่วนบน ที่เรียกว่านมบนของอกเลา หรือสันกลางบานประตูหน้าต่าง ซึ่งสลักลวดลายแต่ละบานไม่ซ้ำกันเลย ทั้งลายไทย จีนและฝรั่งเสาแต่ละต้นก็มีลายมือสมัยรัชกาลที่ 4 เขียนไว้อย่างบรรจง ถึงชื่อช่างที่เขียนลายประดับเสาต้นนั้น ๆ วัดเชิงท่าตั้งอยู่ที่ตำบลวาสุกรี อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ที่วัดเชิงท่า โทร. 0 3532 8030-1

ประวัติ วัดเชิงท่า

วัดเชิงท่า เป็นวัดตั้งอยู่ริมแม่น้ำลพบุรีฝั่งตะวันออก วัดเชิงท่าจึงมีอายุนานไม่น้อยกว่าสามร้อยปี กล่าวกันว่าเดิมชื่อวัดท่าเกวียนด้วยเป็นท่าของเกวียนลำเลียงสินค้าขนลงมาที่ท่าน้ำในบริเวณวัดแห่งนี้ ก่อนที่จะลำเลียงลงเรือส่งไปยังที่อื่นๆพื้นที่ของวัดเชิงท่าตั้งขวางหน้าพระราชวังคือ พระนารายณ์ราชนิเวศน์ ด้านที่หันหน้าสู่แม่น้ำ ลพบุรีเกือบครึ่งด้าน จึงชวนให้สันนิษฐานว่า วัดเชิงท่าน่าจะสร้างก่อนพระราชวัง และนับได้ว่าวัดเชิงท่า จึงเป็นวัดที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และศิลปกรรมแห่งหนึ่งที่เชิดหน้าชูตา สร้างความงามสง่าทางศิลปวัฒนธรรมให้กับจังหวัดลพบุรีมาโดยตลอด

สิ่งก่อสร้างในแต่ละช่วง
สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ได้แก่ พระอุโบสถพระเจดีย์ประธานของวัดซึ่งอยู่บริเวณด้านหลังของพระอุโบสถ
สมัยรัตนโกสินทร์ ได้แก่ กุฏิสงฆ์เป็นแบบตึกสองชั้นทรงเก๋งจีน ศาลาตรีมุข อาคารโวทานธรรมสภา หอระฆัง ศาลาการเปรียญและพิพิธภัณฑ์หอโสภณศิลป์

ภายในวัดเชิงท่า

เจดีย์วัดเชิงท่า

ถาวรวัตถุภายในวัด
พระอุโบสถ มีลักษณะสถาปัตยกรรมคล้ายกับอุโบสถของวัดอื่น ๆ ทีสร้างในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ตัวพระอุโบสถตั้งอยู่บนฐานสูง มีลานกว้างโดยรอบตรงขอบลานมีกำแพงแก้วและมีซุ้มประตูกำแพง หน้าบันซุ้มทำเป็นรูปจั่ว ผังพระอุโบสถแบ่งพื้นที่ใช้สอยเป็นสองส่วนคือ ส่วนหน้าเป็นห้องโถงไม่มีผนัง เสาคู่หน้าสุดของพื้นที่ส่วนนี้เป็นเสาสี่เหลี่ยม มีปูนปั้นประดับหัวเสาเป็นรูปดอกบัวกลีบยาว ส่วนหลังมีพื้นที่ยาวกว่าคือ ห้องโถงมีผนังรอบ หลังคาของพระอุโบสถมุงด้วยกระเบื้องกาบ ช่อฟ้าและหางหงส์ทำเป็นรูปหัวนาค สำหรับพระอุโบสถก็คือเสมาคู่รอบพระอุโบสถ ซึ่งมักทำให้มีผู้สันนิษฐานว่า เสมาแบบนี้คือวัดหลวงไม่ใช่วัดราษฎร์ นอกจากนั้นในพระอุโบสถยังเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปประธานปางมารวิชัย ที่สร้างขึ้นด้วยหินทราย ลักษณะศิลปกรรมของพระพุทธรูปคล้ายกับพระประธานของวิหารวัดไลย์ อำเภอท่าวุ้ง เป็นพระพุทธรูปแบบที่นิยมสร้างขึ้นครั้งรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง จนถึงต้นรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. 2172 – ราว พ.ศ. 2220 ) พระอุโบสถได้รับการบูรณะหลายครั้ง แต่ก็ได้พยายามคงรูปแบบลวดลายของเดิมไว้
พระเจดีย์ ตั้งอยู่บนลานเดียวกันกับพระอุโบสถแต่อยู่ด้านหลัง มีด้วยกันทั้งหมดสามองค์ด้วยกัน ดังนี้ เจดีย์ประธานตั้งอยู่กึ่งกลางลาน เป็นเจดีย์ทรงระฆังคว่ำเพรียวยาวลักษณะเจดีย์ทรงระฆังคว่ำแบบนี้คล้ายกับเจดีย์ของวัดอัมพวัน อำเภอเมืองลพบุรี ซึ่งเป็นวัดในชุมชนมอญบ้านบางขันหมาก ส่วนเจดีย์บริวารอีกสององค์เป็นเจดีย์ทำเป็นรูปดอกบัวบานรองรับองค์ระฆัง มีลักษณะคล้ายกับเจดีย์วัดตองปุ (ลพบุรี) อำเภอเมืองลพบุรี ซึ่งสร้างขึ้นครั้งปลายสมัยอยุธยานอกจากนั้นบริเวณนอกลานพระอุโบสถด้านทิศตะวันออกยังมีเจดีย์บริวารอีก 3 องค์ เป็นเจดีย์แบบย่อมุมไม้สิบสอง ซึ่งเป็นศิลปกรรมที่แพร่หลายตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงสมัยต้นรัตนโกสินทร์
หอระฆัง หอระฆังเป็นอาคารทรงปราฝค์แปดเหลี่ยม สร้างขึ้นเมื่อปี 2462 ลักษณะจองการสร้างคือมีการเจาะช่องประตูและหน้สต่างเป็นช่องโค้งแหลม นับเป็นหอระฆังที่มีลักษณะที่แปลกและหาชมได้ยาก

ข้อมูลสถานที่

วัดเชิงท่า หรือ วัดตีนท่า หรือ วัดติณ หรือ วัดคลัง หรือ วัดโกษาวาสน์ ตั้งอยู่ที่ ตำบลท่าวาสุกรี อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นวัดเก่า สร้างขึ้นในรัชสมัย สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ หรือ พระเจ้าอู่ทอง แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้าง วัดตั้งอยู่ทางทิศเหนือของเกาะเมือง ริมฝั่งซ้ายของ แม่น้ำลพบุรี ใกล้กับ คูไม้ร้อง ซึ่งเป็นอู่เก็บเรือพระที่นั่ง ในสมัย กรุงศรีอยุธยา ฝั่งตรงข้ามวัด คือ ป้อมท้ายสนม และ ปากคลองท่อ ซึ่งเป็นท่าข้ามเรือของฝั่งเกาะเมือง มาขึ้นฝั่งที่ท่าน้ำหน้า วัดเชิงท่า

ลักษณะเด่น

  • รูปหล่อ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี มหาราช ทรงบัลลังก์ ขนาดเท่าองค์จริง – ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสิน มหาราช (สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี มหาราช) – พระประธานหันพระพักตร์ไปทางทิศใต้ ยังคลองเมืองหรือแม่น้ำลพบุรีเดิม – หอระฆังอยู่ทางทิศตะวันออกของพระปรางค์ อุโบสถหลังเก่าขนาบด้านตะวันตก เห็นความเก่าแก่ จากรอยปูน

ทำเนียบนามเจ้าอาวาสวัดเชิงท่า

  • พระอุปัชฌาย์คล้าย
  • พระครูโวทานสมณคุต (รุ่ง)
  • พระอธิการกราน
  • พระภิกษุพิณ สุภัทโท ได้เป็นเจ้าอาวาสวัดเชิงท่าตั้งแต่ พ.ศ. 2475 ครั้นถึง พ.ศ. 2482 ได้ลาสิกขา
  • พระครูโสภณธรรมรัต (ถม ธมฺมทีโป) ได้รับแต่งตั้งได้ทำหน้าที่รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดเชิงท่าตั้งแต่ พ.ศ. 2482 ครั้นถึง พ.ศ. 2540 จึงได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดเชิงท่า ถึง พ.ศ. 2552
  • พระครูสุธรรมโฆษิต (ปิยชัย ปภาโส) พ.ศ. 2552-ปัจจุบัน
ศาลาวัดเชิงท่า

วัดไลย์

 

พาเที่ยว วัดไลย์ จังหวัดลพบุรี

วัดไลย์ เป็นวัดตั้งอยู่ริมน้ำบางขาม ตำบลเขาสมอคอน อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี เป็นวัดเก่าตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น รัชกาลสมเด็จพระเจ้าบรมโกศทรงปฏิสังขรณ์ มีพระวิหาร ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมแบบอยุธยาตอนต้น คือ มีลักษณะเจาะช่องผนังแทนหน้าต่าง ๆ ภายในมีพระประธานขนาดใหญ่ปางมารวิชัย ลงรักปิดทอง มีซุ้มเรือนแก้วแบบพระพุทธชินราช จังหวัดพิษณุโลก ด้านหน้าและด้านหลังของพระวิหารมีลายปูนปั้นเรื่องทศชาติ และเรื่องปฐมสมโพธิงามน่าดูนัก ซึ่งนับว่าเป็นภาพประติมากรรมฝาผนังขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญยิ่งชิ้นหนึ่งของชาติ นอกจากนี้วัดไลย์ยังมีรูปพระศรีอาริย์เป็นของสำคัญอีกอย่างหนึ่งซึ่งผู้คนนับถือกันมาแต่โบราณ ในรัชกาลที่ 5 ไฟป่าไหม้วิหารรูปพระศรีอาริย์ชำรุดไป พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯให้อัญเชิญลงมาปฏิสังขรณ์ในกรุงเทพฯ แล้วคืนกลับไปประดิษฐานอย่างเดิม ถึงเทศกาลราษฎรยังเชิญออกแห่เป็นประเพณีทุกปี ปัจจุบันทางวัดได้ก่อสร้างวิหารสำหรับประดิษฐานพระศรีอาริย์ขึ้นใหม่ ด้านหน้าเป็นรูปมณฑลจตุรมุขแลดูสง่างามมาก พระศรีอาริยเมตไตรยหรือหลวงพ่อพระศรีอาริย์ ซึ่งชาวบ้านนับถือกันมาแต่ครั้งโบราณ มีงานนมัสการที่ยิ่งใหญ่เป็นประจำทุกปี ศิลปะชิ้นเอกที่ไม่ควรพลาดชมคือ ปูนปั้นที่ผนังด้านนอกวิหารเรื่องพุทธประวัติและทศชาติชาดก นอกจากนี้ยังมีพิพิธภัณฑ์จัดแสดงโบราณวัตถุและข้าวของเครื่องใช้ที่ชาวบ้านนำมาถวายให้ชมด้วย

วัดไลย์

ใน พ.ศ. 2561 วัดไลย์เป็นข่าวเนื่องจากมีการบูรณะวัดโดยนำสีทองมาทาทับอาคารโบราณทั้งหลัง ทำให้อธิบดีกรมศิลปากรต้องลงพื้นที่ไปสั่งขูดออกด้วยตนเอง

ตำนานเกี่ยวกับ วัดไลย์

ที่วัดนี้มีพระพุทธรูปอยู่องค์หนึ่ง ประชาชนเลื่อมใสศรัทธามาก คือพระศรีอาริย์ โดยมีตำนานเล่าเกี่ยวกับพระศรีอาริย์นี้ว่า ชายแก่คนหนึ่งชื่อว่ามณฑา หมั่นทำบุญรักษาศีลภาวนาอยู่เป็นนิจ เพื่อจะได้มีอายุยืนให้ถึงสมัยพระศรีอาริย์มาโปรดโลกมนุษย์ ก่อนจะตายแกได้สั่งญาติไว้ว่าให้เอาศพแกไว้7วันแล้วค่อยเผา เมื่อเฒ่ามณฑาตายไป ด้วยบุญกุศลที่แกสร้างสมไว้ พระอินทร์จึงเป็นผู้มารับวิญญาณและแจ้งแกว่าพระศรีอาริย์มาเกิดเป็นมนุษย์แล้วและบวชเป็นพระอยู่วัดไลย์ แต่ไม่รู้ว่าหน้าตาเป็นอย่างไร พระอินทร์จึงมอบดอกบัวหนึ่งดอกแก่เฒ่ามณฑา เพื่อนำไปกราบพระศรีอาริย์ แล้วส่งวิญญาณแกกลับสู่ร่าง เฒ่ามณฑาฟื้นขึ้นมาแล้วเล่าเรื่องไปพบพระอินทร์ให้ญาติพี่น้องฟัง และรีบไปวัดไลย์ เมื่อไปถึงพระกำลังสวดปาฏิโมกข์อยู่ในโบสถ์ แกจึงนั่งรออยู่ที่บันไดโบสถ์พร้อมกับพนมมือชูดอกบัวขึ้นถวาย พระได้เดินออกจากโบสถ์ทีละรูป แต่ไม่มีพระองค์ใดรับดอกบัวเลย เนื่องจากพระมองไม่เห็นดอกบัว เห็นเพียงเฒ่ามณฑานั่งพนมมืออยู่ เมื่อพระออกจากโบสถ์จนหมดแล้ว เฒ่ามณฑาจึงถามเณรว่า พระวัดนี้หมดแล้วหรือ เณรบอกว่ายังมีอีกรูปหนึ่งชื่อพระศรี วันนี้อาพาธไม่ได้ลงโบสถ์ แกจึงรีบไปหาพระศรีที่กุฏิเพื่อถวายดอกบัว พระศรีเห็นดอกบัวก็รีบลุกขึ้นรับ เฒ่ามนฑารู้ทันทีว่าเป็นพระศรีอาริย์ยังความปลาบปลื้มปิติให้แก่เฒ่ามณฑาเป็นอย่างยิ่ง จึงขออยู่รับใช้พระศรีอาริย์ โดยพระศรีอาริย์ไม่ให้แกเล่าเรื่องที่พระศรีอาริย์ลงมาเกิดในโลกมนุษย์และบวชเป็นพระอยู่วัดไลย์ให้แกรู้ อยู่ต่อมาพระศรีย์ก็ถึงแก่มรณภาพ พระภิกษุสามเณรและประชาชนผู้มีจิตศรัทธาจึงร่วมกันหล่อรูปพระศรีอาริย์แต่ทำอย่างไรก็ไม่เสร็จ พระอินทร์จึงแอบมาหล่อให้ในเวลาเพลที่ภิษุสามเณรไปฉันเพล เมื่อกลับจากฉันเพลก็เห็นรูปหล่อพระศรีอาริย์เสร็จเรียบร้อยแล้วเป็นที่อัศจรรย์

พระศรีอริยเมตไตร

พระศรีอาพระศรีอริยเมตไตร หรือพระศรีอาริย์ เป็นปูชนียวัตถุสำคัญของวัดไลย์ จังหวัดลพบุรี สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นตั้งแต่แรกตั้งกรุงศรีอยุธยา หรือในสมัยสุโขทัย เป็นการหล่อแบบพุทธสาวก ศีรษะโล้น ไม่มีเปลวรัศมี ลักษณะคล้ายมนุษย์สามัญ นั่งขัดสมาธิคล้ายปางมารวิชัย ศิลปะรัตนโกสินทร์ ทำจากสำริด ลงรักปิดทอง ตามตำนานว่าหล่อขึ้นแทนองค์พระศรีอาริยเมตไตรองค์เดิมซึ่งสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าปราสาททอง ที่อยู่ในวิหารที่ถูกไฟใหม้ ต่อมาในรัชกาลที่ 5 จึงโปรดฯ ให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ ซ่อมสร้างขึ้นใหม่

วัดไลย์

พิพิธภัณฑ์สถาน

ความงดงามของวัดเก่าแก่ของวัดไลย์แห่งนี้ นับเป็นเส้นทางแห่งการสืบสานศิลปวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของผู้คนในสังคมละแวกนี้ และนี้คืออาคารพิพิธภัณฑ์สถานของวัดไลย์ ที่รวบรวมโบราณวัตถุมาเก็บรักษาไว้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2530 เป็นต้นมา

หอประชุมสงฆ์

บรรดาโบราณวัตถุและปูชนียวัตถุในวัดไลย์ก็ย่อมมีความเป็นไปฉันท์นั้น หลายสิ่งหลายอย่างสูญหายไปกับกาลเวลา แต่อาคารจัตุรมุขอันทรงคุณค่าของศิลปกรรมแห่งนี้ ทั้งหน้าบันทั้งสี่ด้านประดิษฐ์ด้วยไม้แกะสลักรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ ที่วิจิตรบรรจงสวยงาม ยากจะหาแห่งใดมาเสมอเหมือน นับเป็นศิลปกรรมที่ประมาณค่าไม่ได้

พระวิหารเก้าห้อง

บริเวณของพระวิหารเก้าห้อง เป็นวิหารที่ประกอบไปด้วยงานศิลปกรรมอันล้ำค่า ทอดถึงภูมิปัญญาไทย ตัววิหารกว้าง 13 เมตร ยาว 29 เมตร มีประตูเข้าออก 4 ประตู นับเป็นวิหารที่มีขนาดใหญ่ มีภาพปูนปั้นเรื่องทศชาติ และปฐมสมโพธิที่ผนังด้านหน้าและด้านหลัง สวยงาม สมบูรณ์ ชนิดเป็นข้อสันนิษฐานว่าพระวิหารหลังนี้สร้างขึ้นในสมัยสุโขทัย มีอายุอยู่ในราว 800-900 ปีเศษ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูป สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นหน้าตักขนาด 3.8 เมตร

ถาวรวัตถุที่สำคัญ

  • วิหารเก่า เป็นวิหารทรงยาว ฐานรับตัวอาคารทำเป็นบัวคว่ำชั้นเดียว ไม่มีหน้าต่าง แต่เจาะช่องลมที่ผนังทั้งสองข้าง ข้างละห้าช่อง อันเป็นความนิยมของสถาปัตยกรรมก่อนสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีสิ่งน่าชมได้แก่
  • ลายปูนปั้น ประดับอยู่ที่ผนังนอกวิหารทั้งด้านหน้าและด้านหลัง และมุขตอนในวิหาร เป็นลายปูนปั้นเต็มพื้นผนัง มีความงดงามและสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ ที่ผนังด้านหน้าเป็นเรื่องพุทธประวัติและทศชาติชาดก ส่วนด้านหลังยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ บ้างว่าเป็นพุทธประวัติตอนมารผจญ บ้างก็ว่าเป็นตอนแบ่งพระบรมสารีริกธาตุแต่บางคนก็ว่าเป็นเรื่องมโหสถชาดก ที่ผนังมุขตอนในเป็นเรื่องพุทธประวัติตอนเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกผนวช
  • พระประธาน เป็นพระปางสมาธิในซุ้มเรือนแก้วคล้ายพระพุทธชินราช ศิลปะอู่ทองสังเกตได้จากพระพักตร์เป็นรูปไข่ แต่ดูเข้มแข็งบึกบึน มีไรพระศก และชายสังฆาฏิตัดตรง เดิมองค์พระเป็นหินทรายแดง แต่ปัจจุบันมีการพอกปูนและลงรักปิดทอง
ค่ำคืนวัดไลย์

ลำดับเจ้าอาวาสวัดไลย์

  • หลวงพ่อบุญ
  • หลวงพ่อชื่น
  • หลวงพ่อพลบ
  • หลวงพ่อสุ่น พุทฺธสโร
  • พระครูสุพุทธิสุนทร (หลวงพ่อเล็ก)
  • พระครูสุจิตธรรมธัช (สาย สุจิตฺโต)
  • พระครูสถิตปุญญาภิสันท์ (สงวน ฐิตปุณโญ)
  • พระครูวิลาส พัฒนคุณ (มหาบุญยัง อคฺคธมฺโม)

ประเพณีที่สำคัญ

ประเพณีชักพระศรีอาริย์จะมีในวันขึ้น 14 ค่ำเดือน 6 ของทุกปี โดยทางวัดไลย์จะอัญเชิญรูปหล่อพระศรีอาริย์ประดิษฐานบนแท่นตะเฆ่ แล้วประชาชนร่วมกันชักลากตะเฆ่ ตลอดทางที่ชักพระผ่านจะมีประชาชนตั้งโรงทาน และมีจุดหยุดเพื่อให้ประชาชนได้สรงน้ำ ซึ่งเป็นประเพณีที่มีผู้หลั่งไหลเข้าร่วมเป็นจำนวนมากทุกปี พุทธศาสนิกชนจะอัญเชิญรูปหล่อพระศรีอาริย์ประดิษฐานบนตระเข้ชนิดไม่มีล้อ จัดขบวนแห่ด้วยการให้ประชาชนมาร่วมฉุดลากไปตามที่เส้นทางกำหนด เปิดโอกาสให้ประชาชนได้สรงน้ำและกราบนมัสการปิดทองพระศรีอาริย์อย่างทั่วถึง


วันจันทร์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2566

วัดชากใหญ่

 

พาเที่ยว วัดชากใหญ่ จังหวัดจันทบุรี

วัดชากใหญ่ เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ตั้งอยู่ในตำบลพลิ้ว อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี คำว่า ชาก แปลว่า ป่า คำว่าชากใหญ่ จึงหมายถึง ป่าใหญ่ เดิมมีชื่อว่า วัดมหาปทุมวิทยาราม ตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2498 โดยพระธรรมวิสุทธิมงคล (บัว ญาณสมฺปนฺโน) จนถึง พ.ศ. 2508 พระอธิการธรรมรัติ ได้มาจำพรรษาและเป็นเจ้าอาวาสวัด วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535

วัดชากใหญ่

วัดยังเป็นที่ตั้งของพุทธอุทยานมหาปทุมวิทยาญาณสัมปันโนบนพื้นที่กว่า 50 ไร่ สร้างขึ้นโดยพระครูธรรมวิสุทธิมงคล เพื่อใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม ในปี พ.ศ. 2498 และได้รับการพัฒนาเรื่อยม ภายในอุทยานมีพุทธประติมากรรมแสดงเรื่องราวพระพุทธเจ้าขณะแสดงธรรมเทศนาโปรดบุคคลต่าง ๆ ตามพุทธประวัติ โดยมีแผ่นป้ายอธิบายเรื่องราวรายละเอียดตามพุทธประวัติของประติมากรรมนั้น ๆ นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปปางไสยาสน์ พระพุทธรูปปางนาคปรก และมีกุฏิของสงฆ์ใช้ใบจากมุงหลังคาและมุงเป็นผนัง ซึ่งพระอาจารย์มหาบัวให้พระสงฆ์อยู่เพื่อปฏิบัติธรรม

ข้อมูลสถานที่

เดิมวัดชากใหญ่ชื่อ วัดมหาปทุมวิทยาราม ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อมาเป็น วัดชากใหญ่ ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2498 โดย หลวงตามหาบัว (พระอาจารย์ มหาบัว ญาณสัมปันโน ) จนถึงปีพ.ศ. 2508 พระอธิการธรรมรัติ ได้มาจำพรรษาและเป็นเจ้าอาวาสวัด บรรยากาศในวัดมีความร่มรื่น เต็มไปด้วยประติมากรรมเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธศาสนามากมายและยังมีแผ่นป้ายอธิบายเรื่องราวต่างๆของประติมากรรมนั้น ๆ ด้วย

ลักษณะเด่น

วัดนี้เป็นป่าใหญ่มีต้นไม้นานาพันธุ์และมีต้นยางพาราผสม -ภายในพุทธอุทยานฯ มีพุทธประติมากรรมอันยิ่งใหญ่อลังการ

ประวัติ วัดชากใหญ่

ภายในวัดชากใหญ่ที่มีอาณาบริเวณอันร่มรื่นถึง 50 ไร่แห่งนี้ คือที่ตั้งของพุทธอุทยานมหาปทุมวิทยาญาณสัมปันโน ที่สร้างขึ้นโดยพระครูธรรมวิสุทธิมงคล เพื่อใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม ในปี พ.ศ. 2498 และได้รับการพัฒนาเรื่อยมา จนกลายเป็นพุทธอุทยานฯ ที่อาบไปด้วยบรรยากาศอันเงียบสงบ และภายในอุทยานฯ ยังมีพุทธประติมากรรมอันยิ่งใหญ่อลังการ สะท้อนเรื่องราวของพระพุทธเจ้าขณะแสดงธรรมเทศนาโปรดบุคคลต่าง ๆ ตามพุทธประวัติ โดยมีแผ่นป้ายอธิบายเรื่องราวรายละเอียดตามพุทธประวัติของประติมากรรมนั้น ๆ ทำให้เข้าใจรายละเอียดได้อย่างลึกซึ้ง นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปปางไสยาสน์ พระพุทธรูปปางนาคปรก ให้ประชาชนได้เข้ามาสักการะเสริมสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว สถานที่แห่งนี้มีบรรยากาศเงียบสงบร่มรื่น เนื่องจากมีต้นไม้ใหญ่ปลูกนานาพันธุ์ผสมผสานกับต้นยางพาราได้อย่างลงตัว ซึ่งหากเดินชมจนทั่วจะพบว่ากุฏิของสงฆ์ใช้ใบจากมุงหลังคาและมุงเป็นผนัง ซึ่งพระอาจารย์มหาบัวให้พระสงฆ์อยู่เพื่อปฏิบัติธรรม ภายในพุทธอุทยานฯ มีพุทธประติมากรรมอันยิ่งใหญ่อลังการ เป็นเรื่องราวขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธรรมเทศนาโปรดบุคคลต่างๆ ตามพุทธประวัติ ซึ่งล้วนเป็นประติมากรรมมีลักษณะที่สวยงาม ซึ่งนอกจากประติมากรรมต่างๆ ที่จัดแสดงไว้ให้เห็นแล้ว ยังมีแผ่นป้ายอธิบายเรื่องราวรายละเอียดตามพุทธประวัติของประติมากรรมนั้นๆ ทำให้เข้าใจรายละเอียดได้อย่างลึกซึ้ง

ทางเข้าวัดชากใหญ่

ข้อมูลทั่วไป

ตั้งอยู่ที่ ม.11 ต.พลิ้ว อ.แหลมสิงห์ จ.จันทบุรี สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2498 โดยพระอาจารย์ มหาบัว ญาณสัมปันโน (พระธรรมวิสุทธิมงคล) หรือที่นิยมเรียกว่า “หลวงตามหาบัว” ซึ่งมีญาติโยมได้ซื้อที่ดินถวาย เป็นเนื้อที่ 26 ไร่ 2 งานเศษ แต่เดิมนั้นบริเวณวัดเป็นป่าใหญ่ ที่มีต้นไม้ขึ้นปกคลุมหลากหลายชนิด และได้เริ่มสร้างเป็นกุฏิแบบเรียบง่ายด้วยฝาและหลังคามุงจาก

แต่เดิมวัดชากใหญ่ ได้ดำเนินการขอตั้งชื่อว่า “วัดมหาปทุมวิทยาราม” เพื่อให้สอดคล้องกับวัดที่มีมาตั้งแต่หลวงตามหาบัว แต่เนื่องด้วยเป็นชื่อที่อาจจะทำให้ผู้คนจำยาก และเห็นว่าวัดอยู่ในหมู่บ้านชากใหญ่ ซึ่งหากนำมาเป็นชื่อจะทำให้จำได้ง่ายกว่า

ภายในพุทธอุทยานฯ มีพุทธประติมากรรมอันยิ่งใหญ่อลังการ เป็นเรื่องราวขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธรรมเทศนาโปรดบุคคลต่างๆ ตามพุทธประวัติ ซึ่งล้วนเป็นประติมากรรมมีลักษณะที่สวยงาม ซึ่งนอกจากประติมากรรมต่างๆ ที่จัดแสดงไว้ให้เห็นแล้ว ยังมีแผ่นป้ายอธิบายเรื่องราวรายละเอียดตามพุทธประวัติของประติมากรรมนั้นๆ ทำให้เข้าใจรายละเอียดได้อย่างลึกซึ้งบรรยากาศในพุทธอุทยานมีความร่มรื่น ร่มเย็น ยังคงมีต้นไม้พรรณไม้ต่างๆ มากมาย ทำให้เวลาเดินได้ทั้งความสนุก เพลิดเพลิน และได้ความรู้ด้านพุทธประวัติแบบเข้าใจได้ง่าย

พระพุทธรูปนอนวัดชากใหญ่

ป้อมไพรีพินาศ

ที่เที่ยวโบราณ ป้อมไพรีพินาศ จังหวัดจันทบุรี ป้อมไพรีพินาศ ตั้งอยู่บนเขาแหลมสิงห์ หมู่ 1 ตำบลบางกะไชย อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี เป็นป้อ...